การเชื่อม (Welding) การออกแบบจุดต่อโครงสร้างเหล็ก
ถ้าแบ่งประเภทงานเชื่อม ตามรอยเชื่อม จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. เชื่อมพอก หรือ fillet weld เป็นลักษณะที่เชื่อมขอบผิวชิ้นงานหนึ่งๆ เข้ากับผิวของ base material ที่ต้องการจะต่อเข้าไป ข้อดีคือสามารถเชื่อมได้ง่ายโดยไม่ต้องเตรียมขอบชิ้นงาน สะดวก ไม่ต้องควบคุมคุณภาพมาก เพราะแนวโน้มการเกิดความไม่สมบูรณ์ของรอยเชื่อมค่อนข้างน้อย
2. เชื่อมบากร่อง หรือ groove weld ส่วนใหญ่แล้ว (แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ) เป็นลักษณะการ “เชื่อมขอบชิ้นงานเข้ากับขอบ base material” เอาขอบกับขอบมาต่อเข้าด้วยกัน ถ้าเป็นลักษณะเช่นนี้ จะเป็น groove weld แน่นอน 100% ข้อดีของ groove weld คือ ให้กำลังที่สูง โดยหากเป็นการเชื่อมที่ซึมลึกเต็มความหนา ที่เรียกว่า Complete Joint Penetration (CJP) วิศวกรผู้ออกแบบก็ไม่ต้องคำนวณกำลังของ groove weld เลย เพราะสามารถอนุมานได้ว่า กำลังของ groove weld มากกว่ากำลังของวัสดุ (แต่ต้องมั่นใจว่า weld material grade ที่นำมาใช้ มีกำลังมากเพียงพอเมื่อเทียบกับกำลังของวัสดุ) แต่ข้อเสียคือ เป็นงานเชื่อมที่ต้นทุนสูง การเชื่อมบากร่อง (groove weld) วิธีในการเชื่อม มีมากมายหลายวิธีครับ ทั้งเชื่อม manual ด้วยธูปเชื่อม หรือ electrode ที่เรียกว่า SMAW (ตาม AWS) หรือ MMAW (ตาม ISO) ที่ใช้กันทั่วไปในไซต์งานก่อสร้าง หรือ หากเชื่อมในโรงงาน ก็ใช้วิธีการเชื่อม submerge หรือ SAW ซึ่งจะมี “ผงฟลักซ์” มาคลุม (ปล่อยลงมาก่อนเชื่อม แล้วเชื่อมใต้ฟลักซ์ จากนั้นดูดฟลักซ์กลับไปใช้ซ้ำ) หรือเชื่อมโดยใช้ก๊าซคลุม เช่น เชื่อมอาร์กอน หรือเชื่อมซีโอทู (ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ CO2)
การคำนวณกำลังรับน้ำหนักของรอยเชื่อม
กำลังของรอยเชื่อมจะขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
1.วัสดุ วัสดุในที่นี้คือวัสดุที่นำมาเชื่อมเติม ที่เรียกว่า weld material หรือ ในกรณีที่เป็นการเชื่อมที่ให้ความร้อนที่ปลายขอบ base material จนหลอมละลาย แล้วนำส่วนหลอมละลายมาต่อชนเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นกำลังของ base material นั้นๆ สำหรับ weld material จะระบุกำลังตาม spec ซึ่งหากเป็นไปตาม ASTM ก็จะระบุเกรด ขึ้นต้นด้วยสัญลักษณ์ E แล้วต่อด้วยเลข 4 หลัก เลข 2 หลักแรก แทน “กำลังรับแรงดึง” ในหน่วย Megapascal และเลข 2 หลักหลังๆ จะระบุรายละเอียดเฉพาะการใช้
2.ขนาดรอยเชื่อม แน่นอนว่า แรง ย่อมขึ้นกับ กำลังวัสดุในหน่วยแรงต่อพื้นที่ คูณกับ ขนาดพื้นที่ ดังนั้น ขนาดพื้นที่รับแรงของรอยเชื่อม ก็เป็นส่วนสำคัญของความสามารถในการรับแรงของรอยเชื่อม ซึ่งแน่นอนว่า จะขึ้นกับ ความหนาของพื้นที่ และ ความยาวของพื้นที่รับแรงหรือความยาวของรอยเชื่อมนั่นเอง แต่ความหนาของพื้นที่รับแรงนั้น อาจต้องพิจารณากันนิด เช่นถ้าเป็นการเชื่อมซึมลึกเต็มความหนา CJP ความหนารอยเชื่อมก็เป็นความหนาของวัสดุ ซึ่งถ้าเชื่อมตลอดความยาว พื้นที่รับแรงก็เป็นพื้นที่ของขอบวัสดุที่นำมาเชื่อมติดกัน โดยหากวัสดุเชื่อม หรือ weld material มีกำลังมากกว่า base material แล้ว กำลังรับแรงของรอยเชื่อมก็ย่อมมากกว่ากำลังรับแรงของวัสดุ ซึ่งทำให้ไม่ต้องคำนวณกำลังรอยเชื่อม เพราะย่อมมากกว่ากำลังวัสดุนั่นเอง หรือ หากเป็น fillet weld ก็พิจารณาที่ “พื้นที่ส่วนที่เล็กที่สุดที่จะสามารถเกิดการวิบัติได้ ที่เรียกว่า effective throat” (วิศวกรผู้ออกแบบกำหนดขนาด leg size โดย effective throat ก็หาได้จากพิธากอรัสง่ายๆ นะครับ เช่น เท่ากับ 1/sqrt(2) คูณกับ leg size หากขอบวัสดุเป็นมุมฉาก)
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม : https://construction-forum.ssi-steel.com/?p=2476